Electric Trains

< ย้อนกลับ หน้าหลัก

ข่าวสาร "จังหวัดปทุมธานี"

รถไฟฟ้า 7 สาย ในจังหวัดปทุมธานี

โมโนเรล 3 เส้นทาง (Feeder) 

สายที่ 1 รถไฟฟ้าสายสีแดง (สถานีรังสิตตลาดรังสิต > ฟิวเจอร์พาร์ครังสิต)

สายที่ 2 เชื่อมรถไฟฟ้าสายสีเขียว (ถ.เสมาฟ้าคราม > ถ.รังสิต > นครนายก > ฟิวเจอร์พาร์ครังสิต)

สายที่ 3 เชื่อมรถไฟฟ้าสายสีแดง (สถานี มธ.รังสิต > ตลาดไท > วัดธรรมกาย)

ระบบรางใหม่ 5 แนวเส้นทาง

N3 รถไฟฟ้า สายรังสิต > ธัญบุรี > คลองหก > ม.ธรรมศาสตร์

N4 รถไฟฟ้า สายรังสิต > ปทุมธานี

N5 รถไฟฟ้า สายคลองสาม > คูคต

N13 รถไฟฟ้า สายคลองหก > องครักษ์

อบจ.ปทุมธานี ศึกษาใหม่ รถไฟฟ้าจังหวัด เปิด 5 เส้นทางเหมาะสม ก่อนสรุปผลปลายปี 2567 (21/04/2567 Credit: https://www.isranews.org/article/isranews-news/127966-transport-pathumthani.html)

‘บิ๊กแจ๊ส’ ร่วมพ่อเมืองปทุมธานี คิกออฟศึกษาใหม่โปรเจ็กต์รถไฟฟ้าจังหวัด ส่อง 5 สายทางเริ่มแรก ที่ปรึกษาเผยยังไม่สรุปรูปแบบที่เหมาะสม แต่ได้มาแล้ว 4 แบบรอเปรียบเทียบ ‘LRT, TRAMS, ART และ BRT’ คาดศึกษาเสร็จปลายปี 2567 นี้ แย้มดันสาย A รังสิต-สวนสัตว์คลอง 6 ปักเป้าปี 72 เริ่มสร้าง เสร็จปี 75

สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 21 เมษายน 2567 องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.)ปทุมธานี ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี, สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล่าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง, สถาบันวิจัยและให้คำปรึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกันจัดประชุมสัมมนารับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 โครงการศึกษาความเหมาะสม ออกแบบ และศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ระบบขนส่งมวลชนจังหวัดปทุมธานี เมื่อวันที่ 30 มี.ค. 2567 ณ ห้องประชุมนครรังสิต 2-3 โรงแรมโนโวเทล กรุงเทพ ฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต 

จ้าง 4 มหาวิทยาลัย ทำรถไฟฟ้าปทุมธานี

พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายก อบจ.ปทุมธานี กล่าวว่า ปัจจุบันระบบขนส่งสาธารณะในจังหวัดปทุมธานี เพื่อเชื่อมต่อระบบขนส่งมวลชนหลัก ยังขาดประสิทธิภาพและขาดสิ่งอำนวยความสะดวก ซึ่ง อบจ.ปทุมธานี เล็งเห็นความสำคัญเพื่อตอบสนองในการพัฒนาโครงการให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาของประเทศและแผนของจังหวัด โดยมอบหมาย 4 สถาบันการศึกษา ได้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี, สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล่าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง, สถาบันวิจัยและให้คำปรึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกันศึกษาและพัฒนาแผนงานดังกล่าว 

โดยการศึกษาเพื่อเชื่อมต่อรถไฟฟ้า 2 สายหลักที่มีเส้นทางเข้ามาใน จ.ปทุมธานี ได้แก่ สายสีเขียวช่วงหมอชิต - สะพานใหม่ - คูคต และรถไฟชานเมืองสายสีแดงช่วงบางซื่อ - รังสิต ซึ่งทั้งสองสายทางเป็นระบบรถไฟฟ้าสายหลักที่จะมีส่วนต่อขยายในอนาคต โดยสายสีเขียวจะไปต่อถึงลำลูกกา ส่วนสายสีแดงจะไปต่อถึงม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต และจ.พระนครศรีอยุธยาในอนาคต 

อีก 10 ปี ปทุมธานีจะแน่นเหมือนกรุงเทพฯ

ด้านนายพงศธร กาญจนะจิตรา รองผู้ว่าฯปทุมธานี กล่าวว่า ปัจจุบัน จ.ปทุมธานี มีประชากรตามทะเบียนราษฎร 1.2 ล้านคน และประชากรแฝงอีกประมาณ 1.6 ล้านคน มีพื้นที่จำกัดและมีความหนาแน่นของประชาชนมากเป็นอันดับ 5 ของประเทศ ทำให้ปัญหาของการขนส่งและการจัดการจราจรทำได้ในระยะสั้น เพราะพื้นที่ในจังหวัด เป็นที่น่าสนใจของนักลงทุนและประชาชนที่จะย้ายเข้ามาอยู่อาศัย โดยเฉลี่ย 1 ปี มีโครงการอสังหาริมทรัพย์ใหม่ๆ ประเภทบ้านและคอนโดในพื้นที่ถึง 40-50 โครงการ ฉะนั้นใน 10 ปี ข้างต้น จ.ปทุมธานี ก็อาจจะเหมือนกรุงเทพฯ ที่พื้นที่ถนนต่างๆขยายไม่ได้แล้ว จึงต้องมีระบบขนส่งมวลชนทางเลือกอื่น 

3 เหตุผลที่ต้องทำ "ทวนแผน M-MAPS 2"

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะที่ปรึกษาได้นำเสนอศึกษาความเหมาะสม ออกแบบ และศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ระบบขนส่งมวลชนจังหวัดปทุมธานี มีสาระสำคัญ ดังนี้

1. เหตุผลและความจำเป็น ประการแรก ปัญหาจราจรติดขัดตามถนนและแยกสำคัญต่างๆ ได้แก่ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 305 (รังสิต - นครนายก), ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3312 (ลำลูกกา), แยกบางพูน, ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 346 สายต่างระดับรังสิต–พนมทวน, ถนนเสมาฟ้าคราม และแยกเทคโนปทุมธานี

2. ปัญหาการเขื่อมต่อการเดินทาง บริเวณสถานีรถไฟฟ้าสายสีเขียวคูคต, สถานีรถไฟชานเมืองสายสีแดงรังสิต และบริเวณท่ารถตู้ฟิวเจอร์พาร์ครังสิต

3. ปัญหารถโดยสารประจำทางในพื้นที่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรถเมล์สภาพเก่า ทรุดโทรม ไม่ปลอดภัย ส่วนหนึ่งมาจากการที่องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) มีปัญหาขาดทุนสะสมต่อเนื่อง และมีสายทางบริการไม่พอ จนต้องเปิดให้เอกชนมาเดินรถบางสายทาง ซึ่งก็มีปัญหาการทำรอบและแย่งผู้โดยสารกัน จนทำให้การใช้งานขนส่งสาธารณะไม่ปลอดภัย

นอกจากนี้ ทางจังหวัดได้นำแผนพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตรุงเทพมหานครและปริมณฑล(พื้นที่ต่อเนื่อง) ระยะที่ 2 หรือ M-MAPS 2 ของกรมการขนส่งทางราง (ขร.) มาทบทวนร่วมด้วย โดยพบว่าตาม M-MAPS 2 จะมีรถไฟฟ้าอย่างน้อย 3 โครงการที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วงคูคต - วงแหวนรอบนอก (ลำลูกกา), รถไฟชานเมืองสายสีแดงช่วงรังสิต - ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต และรถไฟฟ้าสายสีเทาช่วงวัชรพล - ลำลูกกา

โดยในแผน M-MAPS 2 ได้กำหนดเส้นทางฟีดเดอร์เชื่อมต่อไว้ว่า 7 สายทางได้แก่ สาย C5 ช่วงคลอง 6 - องครักษ์, สาย C11 ช่วงบางซื่อ - ปทุมธานี, สาย C12 ช่วงเมืองทองธานี - ปทุมธานี, สาย C15 ช่วงม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต - นวนคร, สาย C19 ช่วงธัญบุรี - ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต, สาย C20 ช่วงคลองสาม - คูคต และสาย C26 ช่วงปทุมธานี - ธัญบุรี

เปิด 5 เส้นทางที่เหมาะสม สาย A นำร่องเร่งดันสร้างปี 2572

เมื่อทบทวนแผนแม่บท M-MAPS 2 และทบทวนแผนงานโครงการที่เคยมีในเขตจังหวัดปทุมธานี คณะที่ปรึกษาสรุปได้ 5 เส้นทางเหมาะสม ได้แก่ (ดูภาพประกอบด้านล่าง)

สาย A ช่วงสถานีรถไฟชานเมืองสายสีแดงรังสิต - สวนสัตว์ใหม่คลอง 6 ระยะทาง 16.6 กม. แบ่งออกเป็น 2 ช่วงได้ดังนี้ ช่วงที่ 1 จากสถานีรังสิต ตามแนวทางหลวงหมายเลข 346 จนถึงบริเวณทางยกระดับข้ามถนนวิภาวดีรังสิต ระยะทาง ประมาณ 1.50 กม. เขตทางประมาณ 50 เมตร เป็นถนน 10 ช่องจราจร และช่วงที่ 2 จากบริเวณถนนวิภาวดีรังสิตไปสิ้นสุดที่สวนสัตว์แห่ง ใหม่ (คลองหก) ระยะทางประมาณ 15.10 กม. ซึ่งเป็นถนน ขนาด 6-8 ช่องจราจรเขตทางประมาณ 35-40 เมตร

ซึ่งตามแผนที่ศึกษาไว้ เส้นทางนี้จะเป็นเส้นทางนำร่อง โดยกำหนดกรอบเวลาโครงการไว้ว่า จะศึกษาความเหมาะสม ออกแบบ และศึกษา EIA ในปี 2567 จากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนการเสนอโครงการด้วยการขออนุมัติรายงาน EIA ขออนุมัติดำเนินโครงการ และขออนุมัติรายงานการให้เอกชนร่วมลงทุนในโครงการนี้ (PPP) ช่วงปี 2568-2569 ก่อนที่ในช่วงปี 2570-2571 จะเป็นช่วงของการออก พ.ร.ฎ.เวนคืน และจะเริ่มก่อสร้างในปี 2572 ใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี จะแล้วเสร็จให้บริการในปี 2575

สาย ฺB ช่วงสถานีรถไฟชานเมืองสายสีแดงรังสิต - ปทุมธานี จุดเริ่มต้นบริเวณถนนรังสิต - ปทุมธานี วิ่งไปตามแนวทางหลวงหมายเลข 346 ผ่านแยกบางพูน มุ่งหน้าข้ามสะพานปทุมธานี 1 ไปสิ้นสุดที่แยกปทุมวิไล

สาย C ช่วงม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต - สวนสัตว์ใหม่คลอง 6 ระยะทางประมาณ 16.60 กม. แบ่งออกเป็น 3 ช่วงได้แก่ ช่วงที่ 1 ตามแนวถนนคลองหลวง จุดเริ่มต้นอยู่ตรงบริเวณสะพานข้ามทางรถไฟแถวม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ตรงไปตามแนวถนนคลองหลวง ผ่านตลาดไท วัดพระธรรมกาย หออัครศิลปิน จนถึงทางหลวง ปท.3010 เขตทาง 30 เมตร เป็นถนน 6 ช่องจราจร จากนั้นเข้าสู่ช่วงที่ 2 จากทางหลวง ปท.3010 ไปบรรจบถนนเลียบคลองหก ซึ่งบริเวณนี้จะมีการก่อสร้างถนนใหม่ และช่วงที่ 3 ตามแนวถนนเลียบคลอง 6 บรรจบทางหลวง หมายเลข 305 เขตทางประมาณ 14 เมตร เป็นถนน 2 ช่องจราจร

สาย D ช่วงสถานีคลองสี่ (สายสีเขียว)-ถนนรังสิต-นครนายก ระยะทางประมาณ 9.00 กม.

และสาย E ช่วงถนนรังสิต-นครนายก ถึง ถนนคลองหลวง ระยะทาง 8 กม.

เปิด 4 รูปแบบที่เหมาะสม

ในส่วนของรูปแบบโครงการที่เหมาะสม เบื้องต้นประเมินไว้ว่า รูปแบบระบบขนส่งที่เหมาะสมมากที่สุดมี 4 ระบบ ได้แก่ รถโดยสารด่วนพิเศษ (Bus Rapid Transit, BRT), ระบบรถไฟฟ้ารางเบา (Light Rail Transit, LRT), Automated Guideway Transit System (AGT)หรือระบบรถไฟฟ้าแบบสายสีทองในปัจจุบัน และรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Monorail) 

ทั้งนี้ ยังไม่ได้มีการสรุปชัดเจนว่าจะกำหนดให้ใช้แบบใด จะต้องมีการศึกษาปัจจัยที่มีความสำคัญ สัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญ และวิเคราะห์ความต้องการของประชาชน ไปจนถึงปัจจัยด้านผลกระทบการจราจร ความจุการให้บริการ ความคุ้มค่าการลงทุน ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ผลกระทบด้านแรงสั่นสะเทือนและทัศนียภาพ 

ศึกษา 15 เดือน จนสิ้นปี 2567 นี้

สำหรับการศึกษาเบื้องต้นของโครงการ ได้เริ่มไปเมื่อเดือน ก.ย. 2566 ที่ผ่านมา ปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสมด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และออกแบบรายละเอียด การจัดทำเอกสารประกวดราคา รวมถึงการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) โดยคาดว่าจะศึกษาแล้วเสร็จในเดือน ธ.ค. 2567 นี้ต่อไป