LAW

< ย้อนกลับ หน้าหลัก

สาระสำคัญพระราชบัญญัติ
ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์
พ.ศ. 2550

อ้างอิงแหล่งข้อมูล : หนังสือ "การออกแบบเว็บไซต์ (Website Design)", ผศ.จรุงยศ อรัณยะนาค, สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย"

พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550  หรือเรียกสั้น ๆ ว่า "พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์" มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2550 สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

มาตรา 5 ฐานความผิด "เข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์โดยมิชอบ"

ผู้ใดเข้าถึงโดยมิชอบซึ่งระบบคอมพิวเตอร์ที่มีมาตรการป้องกันการเข้าถึงโดยเฉพาะและมาตรการนั้นมิได้มีไว้สำหรับตน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

[อัตราโทษ : จำคุก ไม่เกิน 6 เดือน / ปรับ ไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ]

มาตรา 6 ฐานความผิด "ล่วงรู้และเผยแพร่มาตรการป้องกัน"

ผู้ใดล่วงรู้มาตรการป้องกันการเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์ที่ผู้อื่นจัดทำขึ้นเป็นการเฉพาะ ถ้านำมาตรการดังกล่าวไปเปิดเผยโดยมิชอบในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

[อัตราโทษ : จำคุก ไม่เกิน 1 ปี / ปรับ ไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ]

มาตรา 7 ฐานความผิด "เข้าถึงข้อมูลโดยมิชอบ"

ผู้ใดเข้าถึงโดยมิชอบซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่มีมาตรการป้องกันการเข้าถึงโดยเฉพาะและมาตรการนั้นมิได้มีไว้สำหรับตน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

[อัตราโทษ : จำคุก ไม่เกิน 2 ปี / ปรับ ไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ]

มาตรา 8 ฐานความผิด "ดักข้อมูลโดยมิชอบ"

ผู้ใดกระทำด้วยประการใดโดยมิชอบด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อดักรับไว้ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นที่อยู่ระหว่างการส่งในระบบคอมพิวเตอร์ และข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นมิได้มีไว้เพื่อประโยชน์สาธารณะหรือเพื่อให้บุคคลทั่วไปใช้ประโยชน์ได้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

[อัตราโทษ : จำคุก ไม่เกิน 3 ปี / ปรับ ไม่เกิน 6 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ]

มาตรา 9 ฐานความผิด "รบกวนข้อมูลคอมพิวเตอร์"

ผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลาย แก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือเพิ่มเติมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นโดยมิชอบ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

[อัตราโทษ : จำคุก ไม่เกิน 5 ปี / ปรับ ไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ]

มาตรา 10 ฐานความผิด "รบกวนระบบคอมพิวเตอร์"

ผู้ใดกระทำด้วยประการใดโดยมิชอบ เพื่อให้การทำงานของระบบคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นถูกระงับ ชะลอ ขัดขวาง หรือรบกวนจนไม่สามารถทำงานตามปกติได้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

[อัตราโทษ : จำคุก ไม่เกิน 5 ปี / ปรับ ไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ]

มาตรา 11 ฐานความผิด "ส่งข้อมูลหรืออีเมลอันเป็นการรบกวนผู้อื่น"

ผู้ใดส่งข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือจดหมายอิเล็กทรอนิกส์แก่บุคคลอื่นโดยปกปิดหรือปลอมแปลงแหล่งที่มาของการส่งข้อมูลดังกล่าว อันเป็นการรบกวนการใช้ระบบคอมพิวเตอร์ของบุคคลอื่นโดยปกติสุข ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท

[อัตราโทษ : ปรับ ไม่เกิน 1 แสนบาท]

มาตรา 12 ฐานความผิด "หากกระทำมาตรา 9 และมาตรา 10 โดย (1) ก่อความเสียหายแก่ประชาชน (2) กระทบความมั่นคง ความปลอดภัย เศรษฐกิจ วรรคท้าย เป็นเหตุให้เสียชีวิต"

ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา 9 หรือมาตรา 10
(1) ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชน ไม่ว่าความเสียหายนั้นจะเกิดขึ้นในทันทีหรือในภายหลังและไม่ว่าจะเกิดขึ้นพร้อมกันหรือไม่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท
(2) เป็นการกระทำโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อข้อมูลคอมพิวเตอร์ หรือระบบคอมพิวเตอร์ที่เกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือการบริการสาธารณะ หรือเป็นการกระทำต่อข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือระบบคอมพิวเตอร์ที่มีไว้เพื่อประโยชน์สาธารณะ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงห้าสิบปี และปรับตั้งแต่หกหมื่นบาทถึงสามแสนบาท ถ้าการกระทำความผิดตาม (2) เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบปีถึงยี่สิบปี

[อัตราโทษ : จำคุก (1) ไม่เกิน 10 ปี, (2) ไม่เกิน 3-15 ปี, (เป็นเหตุให้ผู้อื่นเสียชีวิต) ตั้งแต่ 10-20 ปี / โทษปรับ (1) ไม่เกิน 2 แสนบาท, (2) ไม่เกิน 6 หมื่นบาท - 3 แสนบาท]

มาตรา 13 ฐานความผิด "จำหน่าย เผยแพร่ชุดคำสั่ง"

ผู้ใดจำหน่ายหรือเผยแพร่ชุดคำสั่งที่จัดทำขึ้นโดยเฉพาะเพื่อนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการกระทำความผิดตามมาตรา 5 มาตรา 6 มาตรา 7 มาตรา 8  มาตรา 9 มาตรา 10 หรือมาตรา 11 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

[อัตราโทษ : จำคุก ไม่เกิน 1 ปี / ปรับ ไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ]

มาตรา 14 ฐานความผิด "เผยแพร่เนื้อหาไม่เหมาะสม"

ผู้ใดกระทำความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
(1) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะทำความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน
(2) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศหรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน
(3) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา
(4) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ ที่มีลักษณะอันลามกและข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้น ประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้
(5) เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ตาม (1) (2) (3) หรือ (4)

[อัตราโทษ : จำคุก ไม่เกิน 5 ปี / ปรับ ไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ]

มาตรา 15 ฐานความผิด "ISP ที่ยอมให้เผยแพร่เนื้อหาไม่เหมาะสม"

ผู้ให้บริการผู้ใดจงใจสนับสนุนหรือยินยอมให้มีการกระทำความผิดตามมาตรา 14 ในระบบคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในความควบคุมของตน ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้กระทำความผิดตามมาตรา 14

[อัตราโทษ : จำคุก ไม่เกิน 5 ปี / ปรับ ไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ]

มาตรา 16 ฐานความผิด "ตัดต่อภาพทำให้เสียหาย"

ผู้ใดนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่ประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ปรากฎเป็นภาพของผู้อื่น และภาพนั้นเป็นภาพที่เกิดจากการสร้างขึ้น ตัดต่อ เติม หรือดัดแปลงด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์หรือวิธีการอื่นใด ทั้งนี้ โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง หรือได้รับความอับอาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าการกระทำตามวรรคหนึ่ง เป็นการนำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยสุจริต ผู้กระทำไม่มีความผิด ความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้
ถ้าผู้เสียหายในความผิดตามวรรคหนึ่งตายเสียก่อนร้องทุกข์ ให้บิดา มารดา คู่สมรส หรือบุตรของผู้เสียหายร้องทุกข์ได้ และให้ถือว่าเป็นผู้เสียหาย

[อัตราโทษ : จำคุก ไม่เกิน 3 ปี / ปรับ ไม่เกิน 6 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ]

สาระสำคัญเกี่ยวกับกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา

อ้างอิงแหล่งข้อมูล : หนังสือ "การออกแบบเว็บไซต์ (Website Design)", ผศ.จรุงยศ อรัณยะนาค, สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย"

กฎหมายสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการใช้งานอินเทอร์เน็ตและเว็บไซต์คือ พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 และพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 2 และฉบับที่ 3) พ.ศ. 2558

ความหมายของลิขสิทธิ์
ลิขสิทธิ์ หมายถึงสิทธิแต่เพียงผู้เดียวที่จะกระทำการใด ๆ เกี่ยวกับงานที่ผู้สร้างสรรค์ได้ทำขึ้น เป็นผลงานที่เกิดจากการใช้สติปัญญา ความรู้ความสามารถและความอุตสาหะของตนเองโดยไม่ลอกเลียนผู้อื่น โดยงานที่สร้างสรรค์นั้น ๆ ต้องเป็นงานที่กฎหมายลิขสิทธิ์ให้การคุ้มครองตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537

งานสร้างสรรค์ที่มีลิขสิทธิ์ แบ่งออกเป็น 9 ประเภท ดังนี้

ประเภทที่ 1 วรรณกรรม

หมายถึง งานนิพนธ์ที่ทำขึ้นทุกชนิด เช่น หนังสือ จุลสาร สิ่งพิมพ์ เทศนา สุนทรพจน์ และโปรแกรมคอมพิวเตอร์

ประเภทที่ 2 นาฏกรรม

หมายถึง งานเกี่ยวกับการรำ การเต้น การแสดงออกที่ประกอบกันเป็นเรื่องราว หรือการแสดงโดยวิธีใบ้

ประเภทที่ 3 ศิลปกรรม

หมายถึง งานจิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์ สถาปัตยกรรม ภาพถ่าย ภาพประกอบ ศิลปะประยุกต์และรวมถึงภาพถ่ายและแผนผังของงานดังกล่าวด้วย

ประเภทที่ 4 ดนตรีกรรม

หมายถึง งานที่เกี่ยวกับเพลง ทำนองและเนื้อร้องหรือทำนองอย่างเดียว ซึ่งรวมถึงโน้ตเพลงหรือแผนภูมิเพลงที่ได้แยกและเรียบเรียงเสียงประสานแล้ว

ประเภทที่ 5 โสตทัศนวัสดุ

หมายถึง งานที่ประกอบด้วยลำดับของภาพและเสียงประกอบ (ถ้ามี) ที่บันทึกลงในวัสดุใด ๆ ก็ตามที่สามารถนำมาเล่นซ้ำได้อีก เช่น วิดีโอเทป แผ่นซีดี และแผ่นดีวีี เป็นต้น

ประเภทที่ 6 ภาพยนตร์

หมายถึง โสตทัศนวัสดุที่ประกอบด้วยลำดับของภาพ ซึ่งสามารถนำออกฉายต่อเนื่องได้อย่างภาพยนตร์หรือสามารถบันทึกลงบนวัสดุอื่น เพื่อนำออกฉายต่อเนื่องได้อย่างภาพยนตร์ และให้รวมถึงเสียงประกอบภาพยนตร์ด้วย

ประเภทที่ 7 สิ่งบันทึกเสียง

หมายถึง งานที่ประกอบด้วยเสียงดนตรี เสียงการแสดงหรือเสียงอื่นใดที่บันทึกลงในวัสดุที่สามารถนำมาเล่นซ้ำได้ เช่น เทปเพลงหรือแผ่นซีดีเพลง เป็นต้น

ประเภทที่ 8 งานแพร่เสียงและภาพ

หมายถึง งานที่นำออกเผยแพร่ทางวิทยุกระจายเสียง โทรทัศน์หรือวิธีอื่น ๆ ที่คล้ายคลึงกัน

ประเภทที่ 9 งานอื่นใดในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์หรือแผนกศิลปะ

หมายถึง งานสร้างสรรค์ใด ๆ หรืออาจเป็นแขนงใหม่ที่มีลักษณะงานในแผนกวรรณคดีวิทยาศาสตร์หรือศิลปะ

งานที่ไม่มีลิขสิทธิ์

คือ งานที่สามารถนำมาเผยแพร่หรือนำเสนอบนเว็บไซต์ได้โดยไม่ผิดกฎหมาย โดยงานลักษณะนี้จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับข่าวสาร กฎหมายและข้อมูลต่าง ๆ ที่ประชาชนมีหน้าที่ต้องรับรู้ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 7 กำหนดไว้ว่าสิ่งต่อไปนี้ไม่ถือเป็นงานที่มีลิขสิทธิ์

1. ข่าวประจำวันและข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสารอันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี วิทยาศาสตร์หรือศิลปะ

2. รัฐธรรมนูญและกฎหมาย แต่หากเป็นคำอธิบายกฎหมายถือเป็นงานที่มีลิขสิทธิ์

3. ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจงและหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม ที่เป็นหน่วยงานของรัฐหรือของท้องถิ่น

4. คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัยและรายงานของทางราชการ

5. คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตามข้อ 1-4 ที่หน่วยงานของรัฐหรือของท้องถิ่นจัดทำขึ้น

สาระสำคัญข้อยกเว้นที่ไม่ถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ตามมาตรา 32 และมาตรา 33

[คลิกดูข้อความเต็ม] เนื้อหาส่วนที่ 6 ข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ มาตรา 32 - 43 ของพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 หมวด 1 ลิขสิทธิ์

ส่วนที่ ๖

ข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์

-------------------------

               มาตรา ๓๒  การกระทำแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ของบุคคลอื่นตามพระราชบัญญัตินี้ หากไม่ขัดต่อการแสวงหาประโยชน์จากงานอันมีลิขสิทธิ์ตามปกติของเจ้าของลิขสิทธิ์และไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิอันชอบด้วยกฎหมายของเจ้าของลิขสิทธิ์เกินสมควร มิให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์

            ภายใต้บังคับบทบัญญัติในวรรคหนึ่ง การกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ตามวรรคหนึ่ง มิให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ถ้าได้กระทำดังต่อไปนี้

            (๑) วิจัยหรือศึกษางานนั้น อันมิใช่การกระทำเพื่อหากำไร

            (๒) ใช้เพื่อประโยชน์ของตนเอง หรือเพื่อประโยชน์ของตนเองและบุคคลอื่นในครอบครัวหรือญาติสนิท

            (๓) ติชม วิจารณ์ หรือแนะนำผลงานโดยมีการรับรู้ถึงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานนั้น

            (๔) เสนอรายงานข่าวทางสื่อสารมวลชนโดยมีการรับรู้ถึงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานนั้น

            (๕) ทำซ้ำ ดัดแปลง นำออกแสดง หรือทำให้ปรากฏ เพื่อประโยชน์ในการพิจารณาของศาลหรือเจ้าพนักงานซึ่งมีอำนาจตามกฎหมาย หรือในการรายงานผลการพิจารณาดังกล่าว

            (๖) ทำซ้ำ ดัดแปลง นำออกแสดง หรือทำให้ปรากฏโดยผู้สอน เพื่อประโยชน์ในการสอนของตน อันมิใช่การกระทำเพื่อหากำไร

            (๗) ทำซ้ำ ดัดแปลงบางส่วนของงาน หรือตัดทอนหรือทำบทสรุปโดยผู้สอนหรือสถาบันศึกษา เพื่อแจกจ่ายหรือจำหน่ายแก่ผู้เรียนในชั้นเรียนหรือในสถาบันศึกษา ทั้งนี้ ต้องไม่เป็นการกระทำเพื่อหากำไร

            (๘) นำงานนั้นมาใช้เป็นส่วนหนึ่งในการถามและตอบในการสอบ

               มาตรา ๓๒/๑  การจำหน่ายต้นฉบับหรือสำเนางานอันมีลิขสิทธิ์โดยผู้ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในต้นฉบับหรือสำเนางานอันมีลิขสิทธิ์นั้นโดยชอบด้วยกฎหมาย มิให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์

               มาตรา ๓๒/๒  การกระทำแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ที่ทำหรือได้มาโดยชอบด้วยกฎหมายในระบบคอมพิวเตอร์ที่มีลักษณะเป็นการทำซ้ำที่จำเป็นต้องมีสำหรับการนำสำเนามาใช้เพื่อให้อุปกรณ์ที่ใช้ในระบบคอมพิวเตอร์ หรือกระบวนการส่งงานอันมีลิขสิทธิ์ทางระบบคอมพิวเตอร์ทำงานได้ตามปกติ มิให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์

               มาตรา ๓๒/๓  (ยกเลิก)

               มาตรา ๓๒/๔  การกระทำใด ๆ ดังต่อไปนี้ โดยองค์กรที่ได้รับอนุญาตหรือได้รับการยอมรับเพื่อประโยชน์ของคนพิการซึ่งไม่สามารถเข้าถึงงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้ อันเนื่องมาจากความบกพร่องทางการเห็น การได้ยิน การเคลื่อนไหว สติปัญญา หรือการเรียนรู้ หรือความบกพร่องอื่นตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา มิให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ หากไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อหากำไร และได้ปฏิบัติตามมาตรา ๓๒ วรรคหนึ่ง

               (๑) ทำซ้ำหรือดัดแปลงงานอันมีลิขสิทธิ์ที่ได้มีการโฆษณาหรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนแล้ว และได้มาโดยชอบด้วยกฎหมาย

               (๒) เผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งสำเนางานอันมีลิขสิทธิ์ที่ทำซ้ำหรือดัดแปลงตาม (๑) รวมถึงสำเนางานอันมีลิขสิทธิ์ที่ได้รับจากองค์กรที่ได้รับอนุญาตหรือได้รับการยอมรับในประเทศหรือต่างประเทศ

               องค์กรที่ได้รับอนุญาตหรือได้รับการยอมรับ รูปแบบการทำซ้ำหรือดัดแปลงตามความจำเป็นของคนพิการ รวมทั้งหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการเพื่อทำซ้ำหรือดัดแปลงและเผยแพร่ต่อสาธารณชนตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา

               มาตรา ๓๓  การกล่าว คัด ลอก เลียน หรืออ้างอิงงานบางตอนตามสมควรจากงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้ โดยมีการรับรู้ถึงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานนั้น มิให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ถ้าได้ปฏิบัติตามมาตรา ๓๒ วรรคหนึ่ง

               มาตรา ๓๔  การทำซ้ำโดยบรรณารักษ์ของห้องสมุดซึ่งงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้ มิให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์หากการทำซ้ำนั้นมิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อหากำไร และได้ปฏิบัติตามมาตรา ๓๒ วรรคหนึ่ง ในกรณีดังต่อไปนี้

            (๑) การทำซ้ำเพื่อใช้ในห้องสมุดหรือให้แก่ห้องสมุดอื่น

            (๒) การทำซ้ำงานบางตอนตามสมควรให้แก่บุคคลอื่นเพื่อประโยชน์ในการวิจัยหรือการศึกษา

               มาตรา ๓๕  การกระทำแก่โปรแกรมคอมพิวเตอร์อันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้ มิให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ หากไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อหากำไร และได้ปฏิบัติตามมาตรา ๓๒ วรรคหนึ่ง ในกรณีดังต่อไปนี้

            (๑) วิจัยหรือศึกษาโปรแกรมคอมพิวเตอร์นั้น

            (๒) ใช้เพื่อประโยชน์ของเจ้าของสำเนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์นั้น

            (๓) ติชม วิจารณ์ หรือแนะนำผลงานโดยมีการรับรู้ถึงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในโปรแกรมคอมพิวเตอร์นั้น

            (๔) เสนอรายงานข่าวทางสื่อสารมวลชนโดยมีการรับรู้ถึงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในโปรแกรมคอมพิวเตอร์นั้น

            (๕) ทำสำเนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในจำนวนที่สมควรโดยบุคคลผู้ซึ่งได้ซื้อหรือได้รับโปรแกรมนั้นมาจากบุคคลอื่นโดยถูกต้อง เพื่อเก็บไว้ใช้ประโยชน์ในการบำรุงรักษาหรือป้องกันการสูญหาย

            (๖) ทำซ้ำ ดัดแปลง นำออกแสดง หรือทำให้ปรากฏเพื่อประโยชน์ในการพิจารณาของศาลหรือเจ้าพนักงานซึ่งมีอำนาจตามกฎหมาย หรือในการรายงานผลกาพิจารณาดังกล่าว

            (๗) นำโปรแกรมคอมพิวเตอร์นั้นมาใช้เป็นส่วนหนึ่งในการถามและตอบในการสอบ

            (๘) ดัดแปลงโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในกรณีที่จำเป็นแก่การใช้

            (๙) จัดทำสำเนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อเก็บรักษาไว้สำหรับการอ้างอิง หรือค้นคว้าเพื่อประโยชน์ของสาธารณชน

               มาตรา ๓๖  การนำงานนาฏกรรม หรือดนตรีกรรมออกแสดงเพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชนตามความเหมาะสมโดยมิได้จัดทำขึ้น หรือดำเนินการเพื่อหากำไรเนื่องจากการจัดให้มีการเผยแพร่ต่อสาธารณชนนั้น และมิได้จัดเก็บค่าเข้าชมไม่ว่าโดยทางตรง หรือโดยทางอ้อมและนักแสดงไม่ได้รับค่าตอบแทนในการแสดงนั้น มิให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ หากเป็นการดำเนินการโดยสมาคม มูลนิธิ หรือองค์การอื่นที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการสาธารณกุศล การศึกษา การศาสนา หรือการสังคมสงเคราะห์ และได้ปฏิบัติตามมาตรา ๓๒ วรรคหนึ่ง

               มาตรา ๓๗  การวาดเขียน การเขียนระบายสี การก่อสร้าง การแกะลายเส้น การปั้น การแกะสลัก การพิมพ์ภาพ การถ่ายภาพ การถ่ายภาพยนตร์ การแพร่ภาพ หรือการกระทำใด ๆ ทำนองเดียวกันนี้ซึ่งศิลปกรรมใดอันตั้งเปิดเผยประจำอยู่ในที่สาธารณะ นอกจากงานสถาปัตยกรรม มิให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในศิลปกรรมนั้น

               มาตรา ๓๘  การวาดเขียน การเขียนระบายสี การแกะลายเส้น การปั้น การแกะสลัก การพิมพ์ภาพ การถ่ายภาพ การถ่ายภาพยนตร์หรือการแพร่ภาพซึ่งงานสถาปัตยกรรมใด มิให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานสถาปัตยกรรมนั้น

               มาตรา ๓๙  การถ่ายภาพหรือการถ่ายภาพยนตร์หรือการแพร่ภาพซึ่งงานใด ๆ อันมีศิลปกรรมใดรวมอยู่เป็นส่วนประกอบด้วย มิให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในศิลปกรรมนั้น

               มาตรา ๔๐  ในกรณีที่ลิขสิทธิ์ในศิลปกรรมใดมีบุคคลอื่นนอกจากผู้สร้างสรรค์เป็นเจ้าของอยู่ด้วยการที่ผู้สร้างสรรค์คนเดียวกันได้ทำศิลปกรรมนั้นอีกในภายหลังในลักษณะที่เป็นการทำซ้ำบางส่วนกับศิลปกรรมเดิม หรือใช้แบบพิมพ์ ภาพร่าง แผนผัง แบบจำลอง หรือข้อมูลที่ได้จากการศึกษาที่ใช้ในการทำศิลปกรรมเดิม ถ้าปรากฏว่าผู้สร้างสรรค์มิได้ทำซ้ำหรือลอกแบบในส่วนอันเป็นสาระสำคัญของศิลปกรรมเดิม มิให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในศิลปกรรมนั้น

               มาตรา ๔๑  อาคารใดเป็นงานสถาปัตยกรรมอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้ การบูรณะอาคารนั้นในรูปแบบเดิม มิให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์

               มาตรา ๔๒  ในกรณีที่อายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ในภาพยนตร์ใดสิ้นสุดลงแล้ว มิให้ถือว่าการนำภาพยนตร์นั้นเผยแพร่ต่อสาธารณชนเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในวรรณกรรม นาฏกรรม ศิลปกรรม ดนตรีกรรม โสตทัศนวัสดุ สิ่งบันทึกเสียงหรืองานที่ใช้จัดทำภาพยนตร์นั้น

               มาตรา ๔๓  การทำซ้ำ เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติราชการโดยเจ้าพนักงาน ซึ่งมีอำนาจตามกฎหมายหรือตามคำสั่งของเจ้าพนักงานดังกล่าวซึ่งงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้ และที่อยู่ในความครอบครองของทางราชการ มิให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ถ้าได้ปฏิบัติตาม

มาตรา ๓๒ วรรคหนึ่ง


                มาตรา ๓๒ วรรคสอง (๙) ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๖๑

                มาตรา ๓๒/๑ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๘

                มาตรา ๓๒/๒ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๘

                มาตรา ๓๒/๓ ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๖๕

                มาตรา ๓๒/๔ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๖๑

อ้างอิงแหล่งข้อมูล : https://www.drthawip.com/intellectualproperty/014

เว็บไซต์กรมทรัพย์สินทางปัญญา

อ้างอิงแหล่งข้อมูล : https://www.ipthailand.go.th/th/dip-law-2/item/act_cr65.html

กฎหมายในชีวิตประจำวัน

อ้างอิงแหล่งข้อมูล : สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา https://www.ocs.go.th/council-of-state/#/public